เคล็ดลับวิธีออกแบบ บ้านประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าไฟระยะยาว บ้านน่าอยู่เย็นสบาย ไม่ร้อนทั้งปี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เมื่อประเทศไทยเป็นเมืองร้อนที่พอเข้าสู่หน้าร้อนทีไร ก็อยากจะให้หมดฤดูนี้ไว ๆ เพราะนอกจากสภาพอากาศร้อนแล้วยังค่าไฟแพงขึ้นอีกด้วย แต่เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการออกแบบบ้านให้เข้ากับสภาพแวดล้อมด้วยบ้านประหยัดพลังงาน เพื่อให้บ้านเย็นโดยธรรมชาติและช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายในบ้านลดลงไปด้วย วันนี้เราตามไปดูเคล็ดลับวิธีออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน ตั้งแต่โครงสร้าง ทิศทางบ้าน และพื้นที่ต่าง ๆ ในบ้าน
วิธีออกแบบ บ้านประหยัดพลังงาน
ออกแบบบ้าน : ตัวบ้าน
1. โครงสร้าง การเลือกใช้วัสดุโครงสร้างในการออกแบบบ้านให้เย็นสบาย ควรใช้ประเภทสะท้อนหรือป้องกันความร้อนตั้งแต่กระเบื้องหลังคา โดยมุงหลังคาให้มีความชันเป็นมุม 45 องศา เพื่อลดรังสีความร้อน เลือกใช้ฝ้าเพดานที่สามารถระบายอากาศได้ดีแล้วบุฉนวนเสริมกันความร้อน ทำช่องระบายอากาศที่หน้าจั่วหลังคาสำหรับระบายอากาศในบ้านและใต้หลังคา ยกระดับฝ้าเพดานให้ระบายความร้อนออกทางช่องระบายอากาศหรือช่องเปิดใต้หลังคา
2. ผนังบ้าน เลือกใช้วัสดุชนิดกันความร้อนอย่างเช่นฉนวนกันความร้อนบุผนัง ผนังในบ้านและนอกบ้านควรมีสีอ่อน แต่ผนังนอกบ้านควรเป็นแบบผิวมันและมีค่าจุความร้อนต่ำ
บทความที่เกี่ยวข้อง : แนะนำ สีทาภายในโทนเย็น ที่ให้ความรู้สึกเย็นสบาย
3. หน้าต่าง ควรติดตั้งสูงจากพื้นให้เท่ากับความสูงของเตียงนอนหรือเก้าอี้ เพื่อให้ลมพัดผ่านเข้ามาที่ตัวคนพอดี แล้วใช้กระจกชนิดกันความร้อนเพื่อทำให้บ้านเย็น ทำช่องแสงที่บริเวณบนหน้าต่างของตัวบ้านชั้นล่าง จะช่วยให้บ้านสว่างขึ้นจากแสงธรรมชาติตลอดทั้งวัน
ออกแบบบ้าน : ทิศทางรับลม
คนไทยมักนิยมออกแบบบ้านโดยหันหน้าบ้านไปทางทิศใต้มากที่สุด เพราะเป็นทิศที่มีลมโกรกตลอดทั้งปีนั่นเอง หรืออาจจะเลือกหน้าบ้านกับหลังให้หันไปทางทิศเหนือกับทิศใต้ก็ได้เช่นกัน ลมจะพัดผ่านตลอด ทำให้เมื่อเปิดประตูและหน้าต่างจะช่วยให้บ้านเย็นสบาย อากาศถ่ายเทดี ส่วนหน้าต่างให้ติดกันสาดหรือทำชายคาให้ยาวเพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดด
สำหรับทิศตะวันออกกับทิศตะวันตกควรทำผนังทึบหรือออกแบบบ้านให้เป็นพื้นที่ห้องน้ำแทน เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีความชื้นและเย็น จึงช่วยลดอุณหภูมิจากแสงแดดได้อีกทางหนึ่ง และควรหลีกเลี่ยงการทำช่องเปิดบริเวณ 2 ทิศนี้ เพื่อลดการรับลมร้อนและความร้อนจากดวงอาทิตย์ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ให้ติดกันสาดเพิ่ม
ออกแบบบ้าน : พื้นที่ห้องโถงหรือส่วนกลาง
ควรออกแบบบ้านสำหรับบริเวณพื้นที่ที่ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ให้เป็นลักษณะกึ่งเปิดหรือมีลมพัดผ่านดี เช่น ใต้ถุนบ้าน ระเบียงบ้าน หรือสวนเล็ก ๆ หน้าบ้าน เป็นต้น
ออกแบบบ้าน : เครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์
สิ่งที่ควรมองหาเป็นอันดับแรก ๆ คือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ทนทาน ใช้งานได้นาน และต้องมีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 หรือเทคโนโลยีระบบ Inverter ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานและทำให้ประหยัดไฟได้อีกทาง ส่วนเฟอร์นิเจอร์ให้วางชิดติดผนังบ้านไม่ให้ขวางทิศทางลม โดยมีเฟอร์นิเจอร์เท่าที่จำเป็นต้องใช้งานเท่านั้น ยิ่งออกแบบบ้านให้โปร่งโล่งก็ช่วยทำให้ภายในบ้านเย็นสบาย ไม่อึดอัด อากาศถ่ายเทได้ดี
ออกแบบบ้าน : ต้นไม้และสวน
ต้นไม้ช่วยสร้างบรรยากาศในบริเวณบ้านให้สดชื่นขึ้นและกรองมลพิษไปในตัว เพราะฉะนั้นควรออกแบบบ้านให้มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ประมาณ 20% แต่อย่าปลูกให้ขวางทิศทางลมเข้าบ้าน เช่น ไม้ฟอกอากาศ ไม้ยืนต้นเพื่อให้ร่มเงา และเถาไม้เลื้อย เป็นต้น ถ้าบ้านมีบริเวณลานว่าง ๆ ควรปลูกหญ้าเพื่อเก็บความชื้นและยังช่วยลดการสะท้อนแสงที่จะทำให้บ้านร้อนขึ้นอีกด้วย
จริง ๆ แล้วการออกแบบบ้านประหยัดพลังงานนั้น ถ้าเราเข้าใจเทคนิคเกี่ยวกับทิศทางแสงแดดและลมของตัวบ้านก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย ดังนั้นใครที่กำลังมองหาบ้านประหยัดไฟ อยู่เย็นสบาย บ้านไม่ร้อนทั้งปี ลองนำคำแนะนำเหล่านี้ไปปรับใช้กันค่ะ
บทความที่น่าอ่าน : 7 วิธีแต่งบ้านแบบประหยัด แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
รูปภาพจาก : https://pixabay.com/